วันอังคารที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ประวัติการประพันธ์ การพิมพ์ และการแปล



นิทานของบีเดิลยอดกวีฉบับลายมือประดับด้วยเงินและอัญมณี

การตีพิมพ์
ในปี พ.ศ. 2539 โรว์ลิ่งเขียนต้นฉบับของหนังสือเล่มแรกเสร็จ และหาคนที่จะเป็นตัวแทนของเธอ ตัวแทนคนที่สองที่เธอได้ติดต่อ คริสโตเฟอร์ ลิตเติล ได้ตกลงที่จะเป็นตัวแทนของโรว์ลิ่งและส่งต้นฉบับไปที่สำนักพิมพ์บลูมสบิวรี หลังจากที่สิบสองสำนักพิมพ์ก่อนหน้านี้ได้ปฏิเสธ บลูมสบิวรีเสนอค่าตอบแทนล่วงหน้าเป็นเงิน 2,500 ปอนด์สเตอร์ลิง สำหรับการตีพิมพ์ Harry Potter and the Philosopher's Stone[11] แม้ว่าโรว์ลิ่งจะไม่ได้วางกลุ่มอายุเป้าหมายเมื่อครั้งที่เธอเริ่มเขียน สำนักพิมพ์ได้วางกลุ่มอายุเป้าหมายเริ่มแรกไว้ที่ 9 ถึง 11 ปี[12] สำนักพิมพ์ได้ขอให้โรว์ลิ่งเลือกนามปากกาที่ไม่บ่งบอกเพศ เนื่องจากกลัวว่าเด็กผู้ชายในวัยนี้จะไม่สนใจหากทราบว่าผู้แต่งนั้นเป็นผู้หญิง โรว์ลิ่งเลือกใช้ชื่อย่อว่า "เจ. เค. โรว์ลิ่ง" จากโจแอน แคทลีน โดยแคทลีนนั้นเป็นชื่อของย่าของเธอ[13][14]
หนังสือเล่มแรกได้รับการตีพิมพ์ในสหราชอาณาจักรโดยบลูมสบิวรีในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2540 และหลังจากนั้นในสหรัฐอเมริกาในเดือนกันยายน พ.ศ. 2541 โดยสำนักพิมพ์สกอลาสติก สกอลาสติกต้องการให้เปลี่ยนชื่อเรื่องเป็น Harry Potter and the Sorcerer's Stone เนื่องจากเกรงว่าผู้อ่านชาวอเมริกันอาจไม่คุ้นชินกับคำว่า philosopher (นักปราชญ์) หรือแก่นเรื่องเกี่ยวกับเวทมนตร์หรือการเล่นแร่แปรธาตุ ที่ philosopher's stone (ศิลานักปราชญ์ ฉบับแปลไทยใช้คำว่าศิลาอาถรรพ์) มีความเกี่ยวข้องอยู่ โรว์ลิ่งออกหนังสือเล่มต่อ ๆ มาตามมาในเวลาไล่เลี่ยกัน เรียงตามลำดับตั้งแต่ พ.ศ. 2540 - 2550 ทำให้รักษาความสนใจของผู้อ่านและสร้างกลุ่มผู้อ่านที่ภักดีขึ้นได้[15]

   งานประพันธ์ต่อเนื่อง

หลังจากหนังสือเล่มสุดท้ายของหนังสือชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ที่มีชื่อว่า แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต วางแผงและออกจำหน่าย โดยจบเรื่องราวของพ่อมดแฮร์รี่ พอตเตอร์ลง ไม่นานนักก็มีกระแสเรียกร้องให้ เจ. เค. โรว์ลิ่ง เขียนหนังสือเล่มที่แปดออกมาอีก โรว์ลิ่งกล่าวว่า เธอไม่ได้ปฏิเสธว่าจะไม่มีหนังสือเล่มที่แปด แต่ตอนนี้เธอยังไม่ได้เขียน ซึ่งถ้าเธอจะเขียน อาจจะหลังจากนี้อีกสักสิบปีแล้วค่อยว่ากันอีกที
โรว์ลิ่งประกาศว่าเธอจะเขียนหนังสือนิยายเล่มใหม่ พร้อมกับบอกว่ากำลังเขียนหนังสือสารานุกรมเกี่ยวกับแฮร์รี่ พอตเตอร์ ซึ่งมีเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับแฮร์รี่ พอตเตอร์ที่ไม่ได้เขียนเอาไว้ในหนังสือมาก่อน เธอจะนำมาบอกเล่าให้ผู้อ่านได้อ่านกันในหนังสือสารานุกรมนี้ แต่คงต้องใช้เวลาอีกหน่อย หลังจากนั้นไม่ถึงเดือน สำนักพิมพ์ในสหรัฐอเมริกา ได้ตีพิมพ์หนังสือสารานุกรมไปก่อนหน้าที่เจ. เค. โรว์ลิ่งจะเขียนเสร็จ จึงเกิดการฟ้องร้องต่อศาลที่สหรัฐอเมริกา โรว์ลิ่งได้ฟ้องร้องสำนักพิมพ์ที่จัดพิมพ์และจำหน่ายสารานุกรมนั้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเธอและเป็นการคัดลอกข้อมูลของเธอซึ่งเธอกำลังจะเขียนมันในสารานุกรมแฮร์รี่ พอตเตอร์ของจริง ในการฟ้องร้องครั้งนั้นศาลได้ตัดสินให้เธอชนะคดีในที่สุด[16]
หลังจากการฟ้องร้องจบลง เธอได้เขียนนิทานเรื่องหนึ่งขึ้นด้วยลายมือของเธอเอง ใช้ชื่อว่า นิทานของบีเดิลยอดกวี อันเป็นนิทานที่ถูกอ้างอิงอยู่ในเล่มที่เจ็ด นิทานเรื่องนี้ โรว์ลิ่งเขียนขึ้นมาเจ็ดเล่มในโลกเท่านั้น เธอมอบให้กับบุคคลที่ได้ทำให้เธอประสบความสำเร็จรวม 6 เล่ม ส่วนเล่มสุดท้ายนำไปประมูล ได้เงินมาราคาหลายล้านปอนด์[17]และนำเงินมอบให้แก่การกุศล ต่อมามีเด็กสาวชาวออสเตรเลียคนหนึ่งได้แต่งคำกลอนประกวดและชนะเลิศโดยเธอได้อ่านเนื้อหาในหนังสือเล่มนั้นทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตามสำนักพิมพ์ของอังกฤษก็ได้ตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ออกวางจำหน่ายในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ส่วนในประเทศไทยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ได้ตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้เป็นฉบับภาษาไทย[18] วางจำหน่ายเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2551 โดยมีคุณสุมาลี บำรุงสุขเป็นผู้แปล
หลังจากเจ. เค. โรว์ลิ่งเขียนหนังสือนิทานเล่มนี้แล้ว เธอได้เขียนเรื่องราวสั้นๆ จำนวน 800 คำ ลงในกระดาษ เป็นเรื่องราวของเจมส์ พอตเตอร์กับ ซีเรียส แบล็ก ปะทะกับตำรวจมักเกิ้ล เป็นเรื่องราวก่อนแฮร์รี่จะเกิด 3 ปี เรื่องสั้นนี้ยังไม่ได้ตั้งชื่อ แต่เรียกกันอย่างย่อว่า พรีเควลแฮร์รี่ พอตเตอร์

                 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น